กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นกองทุนที่ลูกจ้างและนายจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจ และได้จดทะเบียนตาม พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยมี บลจ. ที่ได้รับใบอนุญาตจัดการกองทุนส่วนบุคคลเป็นผู้บริหารจัดการเงินกองทุนให้
ทั้งนี้ ในการบริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. โดยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะมีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากนายจ้าง และ บลจ. โดยวัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อเป็นสวัสดิการและหลักประกันแก่ลูกจ้าง ในกรณีที่ลูกจ้างเกษียณอายุ ออกจากงาน หรือเสียชีวิต รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มแรงจูงใจในการทำงานของลูกจ้างทำให้ลูกจ้างทำงานอยู่กับนายจ้างนานขึ้น หากต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ในส่วนของเงินสมทบของนายจ้าง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่ผ่านมา พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้มีการปรับปรุงและแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น บทความนี้จะขอสรุปสาระสำคัญของ พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปัจจุบันที่สมาชิกควรทราบ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
สรุปหลักการสำคัญเกี่ยวกับ พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปัจจุบัน
เงื่อนไขการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบ
- พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีการกำหนดให้อัตราเงินสะสมต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 และไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้าง แต่หากลูกจ้างต้องการจะจ่ายเงินสะสมในอัตราที่สูงกว่าเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบก็สามารถทำได้แต่ต้องไม่เกินอัตราที่กำหนดที่ร้อยละ 15 ซึ่งในอดีตกฎหมายกำหนดไว้ว่านายจ้างจะจ่ายเงินสมทบในอัตราที่น้อยกว่าที่ลูกจ้างจ่ายสะสมไม่ได้
การโอนย้ายเงินจากกองทุน กบข. มายังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
- เมื่อข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข. ลาออกจากราชการและมาทำงานเป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชนที่มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ สามารถโอนย้ายเงินจากกองทุน กบข. มายังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในบริษัทเอกชนที่ตนเป็นลูกจ้างและเป็นสมาชิกอยู่ได้ ซึ่งในอดีตไม่สามารถโอนย้ายเงินจาก กบข. มายังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้
กรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์ใดที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ
- ปัจจุบัน พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้เพิ่มเติมให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดประเภทธุรกิจ ระยะเวลา หรือเงื่อนไขใด เพื่อให้ลูกจ้างหรือนายจ้างหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้ากองทุนได้คราวละไม่เกิน 1 ปี
การลงทุนหรือหาประโยชน์ของเงินกองทุน
- พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกำหนดให้ผู้จัดการกองทุนนำเงินสะสมและเงินสมทบไปลงทุนหรือหาผลประโยชน์ตามนโยบายการลงทุนที่ลูกจ้างได้แสดงเจตนาไว้ ในกรณีที่ลูกจ้างไม่แสดงเจตนาเลือกนโยบายการลงทุน ให้ลงทุนหรือหาผลประโยชน์ตามนโยบายเดิมที่ลูกจ้างเคยลงทุนไว้ หากไม่มีนโยบายเดิมให้ลงทุนหรือหาผลประโยชน์ตามนโยบายที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุน
การจ่ายเงิน การโอนย้ายเงินกองทุนเมื่อสิ้นสุดสมาชิกภาพ
- เมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพที่มิใช่เหตุกองทุนเลิก พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกำหนดให้ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับกองทุน โดยให้จ่ายรวมคราวเดียวภายในเวลาไม่เกิน 30 วันนับตั้งแต่วันสิ้นสุดสมาชิกภาพ
- ในกรณีที่ลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะออกจากงานไม่ว่าด้วยเหตุใด ลูกจ้างรายนั้นมีสิทธิที่จะคงเงินทั้งหมดที่มีสิทธิได้รับไว้ในกองทุน และสามารถคงการเป็นสมาชิกต่อไปได้ โดยลูกจ้างและนายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุนตามระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน แต่ต้องไม่น้อยกว่า 90 วันนับแต่วันที่ออกจากงาน
- ในกรณีที่สมาชิกสิ้นสมาชิกภาพเพราะถึงแก่ความตายและไม่ได้ระบุถึงผู้รับผลประโยชน์
ให้กองทุนจ่ายตามเกณฑ์ดังนี้
o บุตรให้ได้รับ 2 ส่วน แต่ถ้าผู้ตายมีบุตรตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปให้ได้รับ 3 ส่วน
o สามีหรือภริยาให้ได้รับ 1 ส่วน
o บิดามารดา หรือบิดาหรือมารดาที่มีชีวิตอยู่ให้ได้รับ 1 ส่วน - ในกรณีที่ลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุเกษียณอายุหรือออกจากงานเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ หากลูกจ้างรายนั้นแสดงเจตนาขอรับเงินจากกองทุนเป็นงวด ให้ผู้จัดการกองทุนจ่ายเงินจากกองทุนตามเจตนาของลูกจ้าง โดยลูกจ้างรายนั้นยังคงเป็นสมาชิกของกองทุนต่อไปตามระยะเวลาที่กำหนด โดยที่ลูกจ้างและนายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบสำหรับลูกจ้างรายนั้นอีก
- ในกรณีที่ลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะออกจากงานไม่ว่าด้วยเหตุใด ลูกจ้างสามารถขอให้โอนเงินที่คงไว้ในกองทุนไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือกองทุนอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันในกรณีการออกจากงานหรือการชราภาพได้
ทั้งนี้ พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้มีการกำหนดกรอบการบริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้ แต่ในทางปฏิบัตินั้น ขึ้นอยู่กับข้อบังคับของกองทุนแต่ละแห่งที่มีการตกลงกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบ พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การลงทุนต้องมีความรู้ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อผลประโยนช์ของนักลงทุนเอง